ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย
-
การใช้บริการที่ปรึกษาไทย
โดยที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน จะมีความซับซ้อนและยุ่งยากในการดำเนินการและใช้ความรู้ในหลายด้าน อาทิ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์ การเงิน สังคม บริหารธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการศึกษาและจัดเตรียมรายละเอียดโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ จึงจำเป็นต้องใช้บริการที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่อิสระปราศจากอคติหรือฉันทคติ และมีความรู้ประสบการณ์ในงานลักษณะเดียวกับโครงการที่ลงทุนมาช่วยทำการศึกษาและจัดเตรียมรายละเอียดโครงการ ทั้งนี้ การเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และจัดเตรียมรายละเอียดโครงการ การสำรวจและออกแบบ รวมถึงการควบคุมงานก่อสร้าง จะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป เนื่องจากผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ สอดคล้องกับเป้าหมายและเวลาที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ การปฎิบัติงานของที่ปรึกษายังเป็นการถ่ายทอดเทคนิคความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานซึ่งทำงานร่วมกับที่ปรึกษา อันจะเกิดประโยชน์แก่หน่วยงานในภายหน้า
รายได้ของที่ปรึกษาจะต้องมาจากค่าบริการที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางเดียวเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านการเงิน การค้า การผลิต หรือการรับเหมาทั้งในทางตรงและทางอ้อมซึ่งจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจจนทำให้สูญเสียความมีอิสระและการวางตัวเป็นกลางในงานให้บริการงานที่ปรึกษา
-
ที่ปรึกษาคืออะไร
ที่ปรึกษาคือ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งอาจเป็นรายบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างสูง และมีความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ และความสามารถให้บริการที่ปรึกษา และเสนอแนะ ความรู้ทางวิชาการในสาขาต่างๆ อาทิ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนโดยพิจารณาด้านเทคนิค เศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม การศึกษาสำรวจและออกแบบในรายละเอียดทางด้านวิศวกรมและสถาปัตยกรรม และการวางแผนและควบคุมการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานหลายๆ ด้าน โดยจำเป็นต้องใช้วิศวกรที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางเทคนิค วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหาร เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อหาวิธีการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ว่าจ้าง
-
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยได้จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลของที่ปรึกษาไทย เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนและส่งเสริมที่ปรึกษาไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสรับงานมากขึ้นรวมทั้งให้ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการให้บริการและความสามารถของที่ปรึกษาไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษา องค์กรที่ปรึกษา และที่ปรึกษาอิสระที่ประกอบกิจการในประเทศไทย อาทิ สถานที่ติดต่อ ทุนจดทะเบียน รายการบุคลากร ความสามารถและผลงานที่เคยทำมาในอดีต ทั้งนี้ เพื่อให้บริการข่าวสารข้อมูลที่ปรึกษาไทยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องแก่ผู้ใช้บริการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน รวมทั้งที่ปรึกษา
2. ให้ผู้ใช้บริการที่ปรึกษาสามารถเลือกหาที่ปรึกษาในสาขาที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และเจ้าของงานสามารถจัดทำ short list ที่ปรึกษาไทย เพื่อคัดเลือกไปปฎิบัติงานได้โดยง่าย
3. สนับสนุนวงการที่ปรึกษาไทย โดยเป็นแหล่งข้อมูลแก่บริษัทที่ปรึกษาไทยซึ่งต้องการหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อร่วมทีมงานโดยสามารถเลือกสรรที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมร่วมงานได้อย่างรวดเร็ว
4. เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับที่ปรึกษาไทยไว้และอำนวยความสะดวกในการคัดเลือกเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ยุติธรรม โดยเจ้าของงานสามารถมีโอกาสคัดเลือกที่ปรึกษาจากรายชื่อทั้งหมดเพื่อให้ได้ที่ปรึกษาที่เหมาะสมกับงานได้
5. เป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยทำให้หน่วยงานของรัฐบาลและวงการที่ปรึกษาไทยทราบถึงความขาดแคลนที่ปรึกษาสาขาต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย ส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพในสาขาที่ขาดแคลนให้กว้างขวางและพอเพียงกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
-
หน้าที่ของศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยมีขอบเขตหน้าที่ดำเนินการดังนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียน การต่อทะเบียน หรือ เพิกถอนทะเบียนรวมทั้งการจัดประเภทที่ปรึกษาไทย ทั้งนี้ เพื่อจัดวางระบบการรวบรวมและประมวลข้อมูลของที่ปรึกษาไทยให้ทันสมัยและถูกต้อง
2. เป็นศูนย์กลางให้บริการข้อมูลที่ปรึกษาไทยแก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่สนใจ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการคัดเลือกและว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง
3. พิจารณาวางแนวทางและนโยบายการส่งเสริมพัฒนาที่ปรึกษาไทยที่ได้จดทะเบียนไว้กับศูนย์ฯ ตลอดจนพิจารณาหาแนวทางในการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการว่าจ้างที่ปรึกษาไทยตามโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาในด้านคุณภาพของผลงานและจรรยาบรรณ โดยพิจารณาคำร้องเรียนจากผู้ว่าจ้าง
4. ดูแลรกษาข้อมูของที่ปรึกษาไทยไว้ให้ปลอดภัย
-
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยให้บริการอะไรบ้าง
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยเป็นหน่วยงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางในการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทยโดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบริการ ประสบการณ์และความสามารถในสาขาต่าง ๆ ของที่ปรึกษาไทย ทั้งนี้ เพื่อให้บริการด้านข่าวสาร และข้อมูลต่าง ๆ ของที่ปรึกษาไทยแก่หน่วยงานราชการและเอกชนที่สนใจ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกและว่าจ้างที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งดำเนินการกำหนดนโยบาย การส่งเสริม และพัฒนาวิชาชีพที่ปรึกษาไทยให้กว้างขวาง และเป็นระบบมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับทั้งนภาครัฐบาลและเอกชน โดยข้อมูลเกี่ยวกับ ที่ปรึกษาไทยนี้ได้รวบรวมเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ให้สอดคล้อง กับระบบ DACON (DATA ON CONSULTANTS) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลที่ปรึกษาสากล โดยได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม สำหรับกลุ่มที่ปรึกษาไทยแล้ว ทั้งนี้ ศูนย์ฯ สามารถให้บริการข่าวสาร และข้อมูลของที่ปรึกษาไทยในด้านต่าง ๆ โดยสังเขปดังนี้
1. ชื่อและที่อยู่ของที่ปรึกษา รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร และ อี-เมล์
2. ความสามารถและบริการของที่ปรึกษา
3. จำนวนบุคลากรของบริษัทที่ปรึกษาหรือองค์การ ซึ่งจำแนกได้เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่บริหาร
4. รายละเอียดประสบการณ์ ผลงานโครงการของที่ปรึกษาประกอบด้วยชื่อโครงการ เจ้าของงาน สถานที่ดำเนินโครงการ บริการที่ให้ จำนวนคน-เดือน (man-months) งบประมาณโครงการ ตลอดจนระยะเวลาการทำงาน
5. จำนวนคน-เดือน ทั้งหมดที่สามารถให้บริการได้
6. ประเภทขององค์กร (เป็นบริษัทเอกชนหรือของรัฐ สมาคม สถาบัน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นต้น)
7. ที่ตั้งและบุคลากรของสำนักงานสาขา
8. กรอบอัตราค่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ในการประมาณการค่าจ้าง และเจรจาต่อรองราคา
9. ข่าวเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาของภาครัฐ และข่าวทั่วไปเกี่ยวกับที่ปรึกษา
10. ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจ้างที่ปรึกษา
-
ประโยชน์ของศูนย์ที่ปรึกษาไทย
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อทั้งที่ปรึกษาและผู้ใช้บริการที่ปรึกษา ซึ่งสามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้
1. สามารถค้นหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
2. ทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดบ้าง
3. ทำให้ทราบว่าประเทศไทยขาดแคลนที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดบ้าง
4. สามารถคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำ Short list สำหรับในการคัดเลือกที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติในเบื้องต้นเหมาะสมกับงาน
5. เป็นแหล่งข้อมูลในการวิเคราะห์โครงสร้างของที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญไทย รวมทั้งศึกษาหาแนวทางในการส่งเสริม พัฒนาที่ปรึกษาไทยและผู้เชี่ยวชาญ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสามารถแข่งขันกับที่ปรึกษานานาประเทศได้
6. ส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่ที่ปรึกษาไทย โดยเป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลและข่าวสารของที่ปรึกษาไทยให้แก่ผู้ลงทุนและที่ปรึกษาต่างประเทศที่ต้องการใช้บริการที่ปรึกษาไทย
7. สนับสนุนให้ที่ปรึกษาไทยได้รับการจดทะเบียนในองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนที่ปรึกษาไทยให้สามารถรับงานในต่างประเทศได้
8. เป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลให้แก่วงการที่ปรึกษาไทยในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เข้าร่วมงาน
-
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย
ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้ดังนี้
หลักเกณฑ์เบื้องต้นของบริษัทที่ปรึกษา
1. จดทะเบียนในประเทศไทย และต้องมีวัตถุประสงค์ในการเป็นที่ปรึกษา
2. มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทขึ้นไป และมีคนไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 โดยพิจารณาจากจำนวนหุ้นและสิทธิในการออกเสียง
3. ต้องมีกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51
4. ต้องมีบุคลากรที่ปรึกษาที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสองคน และต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวบุคลากรที่ปรึกษาทั้งหมด
สำหรับองค์กร สถาบันการศึกษา มูลนิธิอื่นๆ ได้รับการยกเว้นคุณสมบัติข้อ 2และ 3
บริษัทที่ปรึกษาระดับ A หมายถึง
1. ต้องมีบุคลากรที่ปรึกษาอย่างน้อย 2 คน สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกมาแล้ว มากกว่าสิบปี ห้าปี และสามปี ตามลำดับ จากสถาบันการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง และมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง
2. จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
3. มีประสบการณ์โครงการที่แล้วเสร็จในสาขาต่างๆ อย่างน้อย 3 โครงการ
4. สำหรับบริษัทที่ปรึกษาที่ดำเนินกิจการในฐานะที่ปรึกษาไม่ถึง 3 ปี ก็สามารถเข้าหลักเกณฑ์ที่ปรึกษาระดับ A ได้โดยบริษัทเสนอประสบการณ์ผลงานตามโครงการที่แล้วเสร็จในสาขาต่างๆของบริษัทอย่างน้อย3 โครงการ และมีบุคลากรที่ปรึกษาทำงานเต็มเวลาอย่างน้อย 2 คน โดยแต่ละคนต้องมีประสบการณ์ในฐานะที่ปรึกษาอย่างน้อย 6 ปี โดยสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ทางการยอมรับ
ที่ปรึกษาระดับ B หมายถึง ที่ปรึกษาที่ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ปรึกษาระดับ A ข้างต้น
หลักเกณฑ์เบื้องต้นของที่ปรึกษาอิสระ
1. เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
2. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกมาแล้วมากกว่าสิบปี ห้าปี และสามปีตามลำดับ จากสถาบันการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง และมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง
3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้าง ในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ห้างหุ้นส่วนบริษัท มูลนิธิ สมาคม หรือหน่วยงานอื่นใด แล้วแต่กรณี
ที่ปรึกษาอิสระระดับ A หมายถึง
1. ต้องมีประสบการณ์ทำงานในฐานะที่ปรึกษาไม่น้อยกว่า 3 ปี
2. ต้องมีประสบการณ์โครงการที่แล้วเสร็จในสาขาต่างๆ อย่างน้อย 3 โครงการ
ที่ปรึกษาอิสระระดับ B หมายถึง ที่ปรึกษาที่ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ปรึกษาระดับ A ข้างต้น
หมายเหตุ ที่ปรึกษาใดที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาจะไม่รับจดทะเบียนให้กับที่ปรึกษานั้นๆ
การได้รับสาขาความเชี่ยวชาญ
1. ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยจะจดทะเบียนให้เป็นที่ปรึกษาอิสระในสาขาใดนั้น ที่ปรึกษาอิสระจะต้องมีประสบการณ์โครงการในสาขาเดียวกันไม่น้อยกว่าสามโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
2. ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยจะจดทะเบียนให้เป็นที่ปรึกษานิติบุคคลในสาขาใดนั้น จะพิจารณาจากเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งที่ปรึกษานิติบุคคลต้องมีความสอดคล้องกับสาขาที่จะได้รับจดทะเบียน
(๒) ต้องมีประสบการณ์โครงการในสาขาเดียวกันไม่น้อยกว่าสามโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
(๓) ต้องมีบุคลากรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในแต่ละสาขาไม่น้อยกว่าหนึ่งคน
หมายเหตุ ที่ปรึกษาใดที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาจะไม่รับจดทะเบียนให้กับที่ปรึกษานั้นๆ