ข่าวสาร

เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารและกิจกรรมของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

        ย้อนกลับ

      การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 และนิยามหนี้สาธารณะ

      05 มีนาคม 2562
      |
      ข่าวสาร/กิจกรรม สบน.

      นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พร้อมด้วยนางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ  แถลงข่าวเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 และนิยามหนี้สาธารณะ ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
           การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น สำหรับการอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น กระทรวงการคลังพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน แนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
           1) กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ มีรายได้เพียงพอในการชำระดอกเบี้ยจ่าย แต่ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เนื่องจากมีหนี้ที่ครบกำหนดในวงเงินค่อนข้างสูง ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำแนวทางการกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปี
           2) กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ติดลบ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ (Public Service) และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยกระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำกับติดตามเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการหนี้และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
           สำหรับประเด็นนิยามหนี้สาธารณะที่ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดขอบเขตของหนี้สาธารณะให้ไม่รวมหนี้เงินกู้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Operation) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เนื่องจากเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจ (Financial Intermediary) นอกจากนี้ หนี้เงินกู้ของ ธปท. ไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะมาตั้งแต่มีกฎหมายหนี้สาธารณะครั้งแรก ซึ่งในการแก้ไขนิยามหนี้สาธารณะในปี 2560 เป็นไปเพื่อความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการเดิมของกฎหมายในการไม่นับรวมหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะ รวมทั้งแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะเช่นกัน

      Tags :
      • PDMO
      • สบน.
      • หนี้สาธารณะ
      • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
      • PublicDebtManagementOffice
      • PublicDebt
      ;
      Facebook Messenger

      สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีการใช้งานคุกกี้ (cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถเลือกที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอมได้  ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล