โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบวินัยการก่อหนี้และการกำกับดูแล การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ จังหวัดสกลนคร

เมื่อวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2567 นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ นางสาวอุปมา ใจหงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และคณะบุคลากรจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร เพื่อดำเนินโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบวินัยการก่อหนี้และการกำกับดูแลการกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นางสาวอุปมา ใจหงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พร้อมคณะบุคลากรจาก สบน. ได้เข้าพบ นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานคลังจังหวัดสกลนคร สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร และสำนักงานจังหวัดสกลนคร ณ ห้อง Sakonnakhon Provincial Operation Center ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสกลนคร (หลังใหม่) โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองในการบริหารเมืองและนโยบายการดำเนินโครงการลงทุน รวมถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับยุทธศาสตร์และแหล่งเงินในการพัฒนาจังหวัดสกลนคร โดยจังหวัดสกลนคร ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 3 ธรรม” ได้แก่ ธรรมะ ธรรมชาติ และ วัฒนธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาและเติบโตสูง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และเป็นแหล่งปศุสัตว์โคขุนโพนยางคำ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียงซึ่งส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
จากนั้นคณะผู้บริหารและบุคลากรจาก สบน. ได้เข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยคุณกัลยา ศรีกุลกิจ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยและคณะ ได้ให้การต้อนรับและบรรยายถึงที่มาของโครงการและขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภูไทย จนได้สมญานามว่าเป็น ‘นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ’ (World Craft City for Natural Indigo) โดยนับตั้งแต่ปี 2563 ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมคราม และมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก จึงได้จัดตั้งโครงการกลุ่มผ้าทอเป็นต้นแบบ “ดอนกอยโมเดล” เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและเป็นต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นประธานเปิดโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบวินัยการก่อหนี้และการกำกับดูแลการกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมศรีสกล บี โรงแรมเดอะมาเจสติค จังหวัดสกลนคร โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากร สบน. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานกองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค สำนักงานคลังจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งสิ้น 125 ราย เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินของ อปท. การกู้เงินของหน่วยงานภาครัฐ ความรู้เกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะ แนวทางการระดมทุน การกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลัง การกู้เงินโดยการออกพันธบัตร และนโยบายภาครัฐกับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสกลนคร โดยมีการบรรยายถึงขั้นตอนการกู้เงินของ อปท. ในรูปแบบสัญญากู้ยืมเงิน และการออกพันธบัตร แนวทางการกู้เงินของ อปท. ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรรู้ และการบรรยายและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในหัวข้อ “แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น : ปลดล็อกชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมทำ Workshop การจัดทำโครงการเงินกู้ และแลกเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินโครงการพัฒนา และให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากจากความพร้อมในการจัดทำรายละเอียดโครงการเงินกู้ที่มีกระบวนการและขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ พร้อมคณะผู้บริหารและบุคลากร สบน. ได้เข้าศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดสกลนคร โดยนายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ให้การต้อนรับและบรรยายที่มาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยที่อาศัยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นศูนย์ศึกษาทดลอง พัฒนางานแบบเบ็ดเสร็จ โดยได้ทำการพัฒนาป่าไม้ การเกษตร และการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีแผนใหม่ให้แก่เกษตรกร โดยได้ทำการทดลองและพัฒนาพันธุ์สัตว์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ “4+1 ดำแห่งภูพาน” ประกอบด้วย โคเนื้อภูพาน ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน กระต่ายดำภูพาน และแพะภูพาน
